วิธีคิด สู่ความสำเร็จ

วิธีคิดของแต่ละคนส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานความคิดของคนๆนั้นรวมกับตัวกระตุ้นให้เกิดการคิดและสภาพแวดล้อมต่างๆขณะนั้น แต่สุดท้ายแล้วผลที่ได้จากการคิดก็คือการกระทำนั่นเอง…
การคิดเป็นเพียงกระบวนการภายในของคน ส่วนผลที่ได้เกิดจากการกระทำจากความคิดนั้นๆของคนแต่ละคน แต่ในโลกเรานี้การคิดกับการกระทำที่เกิดจากคนเรานั้น มีอยู่แค่ 4 แบบ เท่านั้น คือ…

คิดและทำ

ถ้าเป็นความคิดที่ดี และการกระทำที่ถูกต้อง ก็จะมีประโยชน์อย่างมากต่อทั้งตัวคนคิดเอง และส่วนรวม แต่ถ้าเป็นการคิดที่ไม่ดี และกระทำตามที่คิดนั้นโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีเหมือนกัน

คิดแต่ไม่ทำ

แบบนี้เป็นประเภทนักคิด หรือนักเพ้อฝัน สร้างจินตนาการไปเรื่อยๆ หรืออาจจะเป็นการคิดแบบจริงๆจังก็ได้ แต่ถึงเวลากลับไม่ปฏิบัติตามที่คิดนั้น อันนี้ก็เปล่าประโยช

ทำโดยไม่คิด


แบบนี้เป็นพวกที่ชอบลงมือปฏิบัติ แต่ไม่ค่อยชอบคิด ไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า ถึงเวลามีปัญหาก็แก้ไขกันไป อย่างเบาๆก็มีปัญหากับตัวเอง หนักหน่อยก็ทำให้ส่วนรวมมีปัญหาตามไปด้วย

ไม่คิดไม่ทำ

คือไม่ชอบคิด และก็ไม่ชอบทำ แล้วก็มักจะเกิดปัญหากับตัวเองจากการไม่คิดและไม่ทำ ตามมาในที่สุด

ในที่นี้เราจะมาดูกันเฉพาะแบบที่ 

“คิดและทำ” 

เพราะว่าการคิดและทำ 
จะมีผลมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นในทางที่ดี ถ้าคิดดีทำดี 
และจะเกิดผลร้ายที่สุดเหมือนกันถ้าเป็นการคิดไม่ดีและทำไม่ดี
ซึ่งสามารถจัดเป็นการคิดได้เป็น 2 กลุ่มคือ
คิดบวก
และคิดลบ
วิธีคิดแบบคิดบวกและคิดลบเป็นอย่างไร ?

การคิดบวกหรือคนที่คิดบวกจะมีลักษณะเช่น
เป็นคนมองโลกในแง่ดี
คิดหลายๆมุมมอง
มีความเมตรา กรุณา
มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
มีความศรัทธาในตัวเอง คนอื่นๆและศาสนา
เป็นคนชอบให้อภัย
เป็นคนมีเหตุมีผล
เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์
มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์
การคิดลบหรือคนที่คิดลบจะมีลักษณะเช่น
เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย
ชอบคิดเปรียบเทียบ
เป็นคนขี้ระแวง
เป็นคนชอบอิจฉาริษยา
เป็นคนเห็นแก่ตัว
เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่

คนที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข จะเป็นคนที่คิดบวก คิดแต่เรื่องดีๆและทำให้เกิดประโยชน์ จะใช้ความคิดแบบไตร่ตรองคือไม่ใช้อารมณ์ และคิดถึงเรื่องราวต่างๆในหลายๆมุมมอง 


หลายๆคนรู้ว่าควรคิดแบบไหน…
แต่ก็มีบ่อยครั้งที่การคิดอาจจะมีความคิดแบบลบเกิดขึ้นบ้าง 
เพราะว่ากระบวนการคิด อาจจะมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่น
การรับรู้เรื่องราวต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจรับรู้เรื่องที่ไม่เป็นความจริงก็ทำให้การคิดเป็นลบได้ วิธีคิดที่ถูกต้องคือเมื่อได้รับรู้เรื่องราวอะไรก็ตาม ต้องคิดวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ก่อนว่า มีโอกาสเป็นไปได้ขนาดไหน อย่าเพิ่งตัดสินว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดหรือไม่
การพยายามหาคำตอบที่ถูกต้อง ก็ทำให้เราอาจคิดผิดได้ เพราะเรื่องบางเรื่องอาจไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว หรือบางครั้งคำตอบบางคำตอบอาจผิดสำหรับเรา แต่อาจถูกสำหรับอีกคนก็ได้
การมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป ก็อาจทำให้การคิดผิดไปได้ การมีความมั่นใจเป็นเรื่องดี แต่สำหรับบางเรื่องการรับฟังก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะว่าการไปถึงทางออกอาจมีหลายทาง ความคิดของเราอาจถูกต้อง แต่ก็อาจไม่ได้ถูกต้องที่สุดก็ได้
ความเชื่อและค่านิยมบางอย่าง ก็มักจะทำให้ความคิดผิดไปก็ได้ เพราะว่าความเชื่อจะควบคุมความคิดของเราให้อยู่แต่เฉพาะในกรอบของความเชื่อนั้น ทำให้บางครั้งไม่เปิดใจยอมรับความคิดอื่นๆ หรือความคิดใหม่ๆที่อาจถูกต้องกว่าความคิดเดิมๆของเรา
อารมณ์ในขณะนั้น ก็มีผลอย่างมากต่อความคิด เพราะในหลักการทำงานของสมอง เมื่อมีอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง หรือกลัว วงจรการทำงานของสมองจะเกิดการลัดวงจร คือการรับรู้ต่างๆจะถูกตัดเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจทันที โดยไม่ได้เข้าสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุและผลก่อน ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองมีอารมณ์ใดๆก็ตาม โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ ควรจะหยุดคิดหรือชะลอการตัดสินใจไว้ก่อน อย่างที่เขาบอกว่าให้นับหนึ่งถึงสิบ นั่นคือการรอให้อารมณ์นั้นบรรเทาเบาบางลงก่อน เพื่อให้สมองมีการทำงานตามปกติ ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจเป็นไปตามกระบวนการปกติ คือมีการคิดหาเหตุผลก่อน

ฝึกการคิดให้ถูกวิธี

การคิดให้ถูกวิธี จริงๆแล้วมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันอยู่ 3 ส่วน คือ

ทักษะการคิด

เป็นการนำความรู้หรือทักษะต่างๆมาใช้ในการคิด เช่น
การสังเกต ,การเปรียบเทียบ ,การจำแนกแยกแยะ ,การขยายความ ,การตีความหมาย ,การจัดกลุ่ม และการสรุป ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะมีผลต่อการนำมาใช้ในกระบวนการคิดทั้งสิ้น

ลักษณะการคิด

เป็นลักษณะโดยรวมของการคิดแต่ละแบบ เช่น คิดมาก ,เล็กคิดน้อย ,คิดฟุ้งซ่าน ,คิดรอบคอบ ,คิดกว้าง หรือคิดลึก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละคน

กระบวนการคิด

เป็นลักษณะการนำทุกๆอย่างมาใช้ในการคิด ทั้งทักษะการคิด ,ลักษณะการคิด ,ความรู้ที่มี และประสบการณ์ที่ผ่านมา เช่น คิดวิเคราะห์ ,คิดแบบสร้างสรรค์ ,คิดแบบไตร่ตรอง ,คิดแบบมีเหตุมีผล 

การคิดแบบถูกวิธี ก็คือการคิดแบบมีกระบวนการใช้ทักษะ ความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา มาช่วยคิดโดยสามารถแยกแยะได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อและการเป็นตัวตนของตัวเอง ซึ่งจะทำให้การคิดป็นในแบบ การคิดวิเคราะห์หาเหตุผล มีการไตร่ตรองด้วยข้อเท็จจริงมาอย่างรอบคอบ ซึ่งเราสามารถฝึกให้มีวิธีคิดที่ถูกต้องได้โดย
ศึกษาหาความรู้ในด้านต่างๆ
ฝึกคิดหลายๆแบบและหลายๆมุมมอง
ฝึกการใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆประกอบการคิด
ไม่คิดล่วงหน้าไปก่อน
ไม่ใช้ประสบการณ์เก่ามาตัดสินปัญหาใหม่ๆก่อนที่จะพิจารณาให้ถี่ถ้วน
ศึกษาวิธีคิดของคนอื่นๆ
ทบทวนการคิดของตัวเองที่ผ่านมา และดูว่าการคิดและการตัดสินใจในเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

การพัฒนาวิธีคิด เมื่อมีวิธีการคิดที่ถูกต้องแล้วสุดท้ายเราจะมีวิธีคิดที่เป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เราสามารถคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและการตัดสินใจจากการคิดนั้นจะได้ประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งก็คือ
คิดและทำ

การคิดแบบเป็นระบบเพื่อการตัดสินใจเป็นอย่างไร

คงเคยได้ยินคำว่า คิดแบบเป็นระบบ หรือการคิดเชิงระบบ กันมาบ้างแล้ว บางคนอาจได้ยินคนพูดถึงกันบ่อยๆ แต่อาจยังไม่เข้าใจว่าการคิดแบบเป็นระบบเป็นอย่างไร !,,,

ถ้าพูดถึงความหมาย…
การคิดแบบเป็นระบบคือ…
การคิดแบบที่มองเป็นภาพรวมๆ
และมีส่วนย่อยๆเชื่อมโยงกันอยู่
ถ้าพูดแบบเป็นทฤษฎีนี่ อาจจะยังมึนๆกันอยู่
ลองสมมติว่าตอนนี้เรากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่สักเรื่อง
แล้วลองคิดตาม ดังนี้
เป้าหมายในการคิด หรือโจทย์ของการคิด
พูดง่ายๆก็คือ เราคิดเพื่ออะไร มีโจทย์หรือปัญหาอะไรที่เราต้องการคำตอบจากการคิดครั้งนี้ เช่น
เพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง
เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว
เพื่อป้องกันปัญหาหรือข้อผิดพลาดบางอย่าง
เพื่อพัฒนาหรือสร้างสรรค์บางอย่าง
เพื่อปรับปรุงบางอย่างให้ดีขึ้น
เพื่อหาคนผิด
เพื่อความสะใจของตัวเอง
เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้อง
สังเกตให้ดี 5 ข้อแรกถือว่าเป็นเป้าหมายหรือโจทย์ที่ถูกต้องในการคิด เพราะว่าสิ่งที่ได้จะมีประโยชน์ ส่วน 3 ข้อหลังนั้นเป็นโจทย์ปัญหาที่ผิด การคิดเพราะมีโจทย์แบบนี้ เขาเรียกว่า 
ผิดตั้งแต่การตั้งโจทย์แล้ว 
ลองนึกย้อนกลับไปดูว่าที่ผ่านมามีกี่ครั้งที่เรา ผิดตั้งแต่การตั้งโจทย์แล้ว และคนส่วนมากที่มักเกิดปัญหา ซ้ำๆเดิมๆ เกิดขึ้นก็เพราะว่า ผิดตั้งแต่การตั้งโจทย์แล้ว ซึ่งสิ่งที่ได้มาจากการคิด ไม่มีประโยชน์ใดๆ มิหนำซ้ำยังมีโทษด้ยวซ้ำ
มีข้อมูลอะไรบ้าง
เมื่อได้โจทย์หรือปัญหาแล้ว ต่อไปก็ต้องมาดูที่ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องว่ามีอะไรบ้าง และที่สำคัญคือต้องแยกแยะข้อมูลนั้นๆออกเป็น…
ข้อมูลที่เป็นความจริง
ข้อมูลที่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นความจริงหรือไม่
ข้อมูลที่เป็นเท็จ
การเชื่อมโยงกันของข้อมูล
หลังจากได้คัดข้อมูลที่เป็นเท็จออกไปแล้วเหลือเฉพาะความจริงและสิ่งที่ยังไม่แน่ใจเก็บเอาไว้ก่อน ก็มาดูถึงการเชื่อมโยงกันของข้อมูลต่างๆ ว่ามีอะไรเชื่อมโยงกันบ้างและเชื่อมโยงกันอย่างไร
ทำอย่างไรได้บ้างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายหรือตอบโจทย์ปัญหานั้นๆ
สุดท้ายก็คือการตัดสินใจที่จะทำสิ่งใดๆเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายหรือตอบโจทย์ในการคิดนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็น เพื่อแก้ปัญหา ,เพื่อปรับปรุงบางอย่าง ,เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดบางประการ โดยที่หลังจากผ่านการคิดแบบเป็นระบบแล้ว เราจะมองเห็นสิ่งต่างๆที่เราคิดได้ชัดเจนขึ้น และทำให้มีทางเลือกในการกระทำใดๆหลายๆทางเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์นั้น 




สรุปวิธีคิดที่ถูกต้องคือการคิดแบบเป็นระบบ…
ซึ่งจำเป็นหลักง่ายๆคือ …
การคิดทุกครั้งให้ตั้งโจทย์เอาไว้ว่า คิดเพื่ออะไร…
นำมาคิดเฉพาะข้อมูลที่แน่ใจว่าเป็นความจริงเท่านั้น…
เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกัน…
กำหนดทางเลือกไว้หลายๆทาง…
คิดอีกทีว่าทางเลือกแต่ละทางมีผลดีผลเสียอย่างไร…
สุดท้าย…
ลงมือทำด้วยความมั่นใจ
แล้วจะประสบความสำเร็จแน่นอน


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

https://www.facebook.com/Content2Marketing

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Ple_Chokchai Follow me on Twitter!